พุทธคยา ( Bodh Gaya ) ผู้คนต่างภาษาแต่ศรัทธาหนึ่งเดียว
พุทธคยา ดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ ยังคงเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นหมุดหมายปลายทางของผู้มีจิตศรัทธาตั้งใจไปเยือนอยู่เสมอ เพราะที่นี่คือ สถานที่ตรัสรู้ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถานที่สำคัญ ที่ชาวพุทธต้องมาให้ได้สักครั้งในชีวิต
แม้กาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง เมื่อความเชื่อใหม่กลืนกินความเชื่อเก่า ผู้คนในประเทศอินเดียที่ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาฮินดูแล้วก็ตาม แต่พุทธคยาหาได้เงียบหายจากเสียงสาธยายธรรมของผู้คนหลายชาติ หลายภาษา เลยแม้แต่น้อย ด้วยหัวใจที่ศรัทธานำพาผู้แสวงบุญมาจากทั่วทุกมุมโลก ให้ได้มาเห็นด้วยตา สัมผัสด้วยใจอันผ่องใส สร้างเหตุ สร้างปัจจัยสู่หนทางแห่งนิพพาน ตามรอยองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
เจดีย์พุทธคยา สายธารแห่งศรัทธา รวมจิตวิญญาณเป็นหนึ่งเดียว
ทุกย่างก้าวเมื่อเข้ามาบริเวณนี้ จะคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นหอมของเครื่องบูชานานาชนิด พิธีกรรมที่หลากหลายของนิกายต่างๆ เสียงสวดมนต์อธิษฐานขอพรจากผู้คนหลายชาติพันธุ์ แว่วให้ได้ยินไม่ขาดสาย ถึงแม้จะต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ ความศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผู้มาเยือนได้รู้สึกราวกับว่า การมายังสถานที่แห่งนี้ เหมือนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดพระพุทธองค์ เพื่อจะได้เจริญจิตภาวนา สวดมนต์ปฏิบัติบูชา อันเป็นการบูชาสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา จนเกิดเป็นปิติจิตที่หาไม่ได้จากที่ใดอีกแล้ว
พุทธคยา ตั้งอยู่ที่ไหน ?
พุทธคยา หรือ วัดมหาโพธิ์ (Mahabodhi Temple) ปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่ ตำบลพุทธคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร ทางภาคตะวันออกของประเทศอินเดีย พุทธคยา ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เมื่ออดีตกาลตามพุทธประวัติ ที่นี่คือ หมู่บ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา อยู่ใน แคว้นมคธ ซึ่งเป็นราชอาณาจักรยิ่งใหญ่ มีกรุงราชคฤห์เป็นเมืองหลวงนั่นเอง
พุทธคยา สร้างขึ้นเมื่อใด ?
พุทธคยา ได้มีการเริ่มสร้างพุทธสถานเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และต่อมาในสมัย พระเจ้าหุวิชกะ ได้สร้างมหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ในปี พ.ศ. 694 เป็นเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยม ติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ พระเจดีย์ได้ถูกดูแลทำนุบำรุงจากกษัตย์หลายรุ่นต่อมา จนกระทั่งเมื่อกองทัพมุสลิมบุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยร้าง และค่อย ๆ เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ชาวอินเดีย
พุทธคยา ได้ถูกค้นพบอีกครั้งโดย ท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ (Sir Edwin Arnold) และได้นำไปเขียนหนังสือ The Light of Asia จึงเป็นเหตุให้ในปี พ.ศ. 2417 พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอินเดียเพื่อขอบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและจัดการบางประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้
9 สถานที่สำคัญบริเวณโดยรอบเจดีย์พุทธคยา ตามจารึกในพุทธประวัติ
1. พระพุทธเมตตา ภายในองค์เจดีย์พุทธคยาจะมีพระประธานมีพระนามว่า “พระพุทธเมตตา” ซึ่งเป็นพระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัย แกะสลักจากหินสีดำเนื้อละเอียด ศิลปะสมัยราชวงศ์ปาละอันงดงาม ประดิษฐาน ณ ห้องบูชาชั้นล่างสุดทางประตูด้านทิศตะวันออก ซึ่งมีอายุกว่า 1,400 กว่าปี
2. พระแท่นวัชรอาสน์ เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานที่ที่ พระสมณโคดม ได้ บรรลุโพธิญาณ ตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างโดย พระเจ้าอโศกมหาราช หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน
3. ต้นพระศรีมหาโพธิ์ คือ ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับในช่วงเวลาตรัสรู้ ต้นไม้แห่งประจักษ์พยานและสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ของพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นปัจจุบันเป็นหน่อที่ 4 โดยมีประวัติดังนี้
- ต้นที่ 1 คือ ต้นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ซึ่งตายลงในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช
- ต้นที่ 2 คือ ต้นที่แตกหน่อออกมาจากต้นแรก และได้ถูกทำลายลงในสมัยพระเจ้าสาสังการ กษัตริย์ฮินดู
- ต้นที่ 3 คือ ต้นที่แตกหน่อออกมาจากต้นแรก และได้ตายลงเพราะขาดการบำรุงดูแล เนื่องจากเป็นช่วงพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียเสื่อมโทรม
- ต้นที่ 4 คือ ต้นศรีมหาโพธิ์ต้นปัจจุบันที่แตกหน่อมาจากต้นที่ 3 ได้รับการบำรุงดูแลหน่อโดยเซอร์คันนิงแฮม หัวหน้าคณะสำรวจพุทธศาสนสถานในช่วงที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ปลูกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2423
4. รัตนจงกรมเจดีย์ มีลักษณะเป็นหินทรายสลักเป็นดอกบัวบาน จำนวน 19 ดอก อยู่ข้างพระมหาเจดีย์ ด้านทิศเหนือ หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ทรงเสด็จจงกรม ณ บริเวณนี้
5. รัตนฆรเจดีย์ มีลักษณะเป็นรูปวิหารทรงสี่เหลี่ยม ไม่มีหลังคามุง โดยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งจะมีพระพุทธรูปอยู่ภายใน มีความสำคัญ ตามในพุทธประวัติ เป็นสถานที่ที่เทวดา นิรมิตถวายพระพุทธเจ้า
6. ต้นไทร ที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยข้ามแม่น้ำเนรัญชรา ใกล้กับหมู่บ้านนางสุชาดา
7. บ้านนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาส ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้
8. สระมุจลินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากแม่น้ำเนรัญชรา ครึ่งกิโลเมตร ปัจจุบัน เป็นสระบัวขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูปปางนาคปรกประดิษฐานอยู่กลางสระ
9. ต้นเกด สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับ แล้วพ่อค้า 2 คน ถวายข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง และประกาศตนเป็นอุบาสกคู่แรกในพุทธศาสนา
ความสวยงามแปลกตา และมีเอกลักษณ์ของพุทธคยาแห่งนี้ นอกจากเรื่องของประติมากรรมทางด้านวัตถุแล้ว การได้เห็นความหลากหลายของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากหลากหลายเชื้อชาติ นักบวชต่างนิกายหลายลัทธิ ขอทานมากมายตามข้างทาง ภาพความทุกข์ที่แสนหดหู่ และภาพความสุขที่เต็มไปด้วยความแช่มชื่น ได้เห็นสัจธรรมของชีวิต ราวกับว่ากำลังท่องอยู่ในสมัยพุทธกาล ขับขานให้ผู้มาเยือนให้ได้รับรู้ และสัมผัสถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ต้องมนต์ขลังแห่งนี้ ได้ประทับใจไม่รู้ลืม.
แจกเครดิตฟรี สล็อต บาคาร่า คาสิโนออนไลน์ JQK41